ระบบบริหารการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย (OIMS)

เรายึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและความต้องการด้านเศรษฐกิจของชุมชนที่เราปฏิบัติงานอยู่ ทั้งนี้ เราดำเนินงานโดยเน้นเรื่องความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย และสุขภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ลูกค้า และชุมชน

ในบทความนี้

Image

เพื่อส่งเสริมแนวทางดังกล่าว บริษัทจึงได้วางนโยบายด้านความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และนำนโยบายมาเป็นหลักปฏิบัติภายใต้กรอบของระบบบริหารการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย (Operations Integrity Management System  หรือ OIMS)

บริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลทั่วโลก ใช้ระบบ OIMS เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ เอ็กซอนโมบิล นำหลักการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย (Operations Integrity) มาประยุกต์ใช้กับทุกแง่มุมของการดำเนินธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของตัวบุคคลหรือการปฏิบัติงาน การรักษาความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบของ OIMS มี  11 ประการ โดยในแต่ละองค์ประกอบจะเชื่อมโยงถึงนโยบายพื้นฐานและมีการกำหนดความคาดหวังที่ชัดเจน ทั้งนี้ จะมีการกำหนด ลักษณะเฉพาะ และวิธีการจัดการ  ในการนำระบบมาใช้งาน รวมถึงการประเมินผล การปฏิบัติงานตามที่ได้กำหนดใว้

ทุกหน่วยงานของเอ็กซอนโมบิลจะต้องปฏิบัติตามองค์ประกอบของ  OIMS โดยมุ่งเน้นที่การออกแบบ การก่อสร้าง และการปฏิบัติงาน ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ดูแลให้มั่นใจว่าหน่วยงานของตนมีระบบการทำงานที่สอดคล้องกับหลัก OIMS ทั้งการกำหนดขอบเขต การจัดลำดับความสำคัญของแต่ละประเด็น และการติดตามความคืบหน้าของการนำนโยบายไปปฏิบัติจริง ล้วนต้องสอดคล้องกับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากธุรกิจนั้นๆ 

บริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลทั่วโลก ใช้ระบบ OIMS เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงาน 

องค์ประกอบที่ 1

ความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร

ฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนดนโยบาย ภาพรวมการดำเนินการ  เป้าหมาย และจัดหาทรัพยากรเพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ การสร้างความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน จะต้องอาศัยความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบของผู้บริหารต่อองค์กรในทุกระดับ

1.1 — จะต้องมีระบบการจัดการ ระบบในการสื่อสาร และการสนับสนุนจากพนักงานในทุกระดับขององค์กร

1.2 — ผู้จัดการและหัวหน้างานต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบส่วนบุคคลในการส่งเสริมระบบ OIMS รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง และตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นแบบอย่างที่ดีในองค์กร

การมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยและชัดเจนเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร

1.3 — มีการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้จัดการและหัวหน้างาน รวมถึงทักษะและพฤติกรรมความเป็นผู้นำ เพื่อให้ใช้เครื่องมือและระบบ OIMS ได้อย่างมีประสิทธิผล

1.4 — ฝ่ายบริหารกำหนดขอบเขต จัดลำดับความสำคัญ และช่วงเวลาสำหรับการใช้งานและการปรับปรุงระบบ โดยพิจารณาถึงความซับซ้อนและความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการดำเนินงานหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ

1.5 — ผู้บริหารรับรู้และปฏิบัติตามบทบาท ความรับผิดชอบ อำนาจหน้าที่ และภาระรับผิดชอบตามกรอบที่กำหนดไว้

1.6 — มีการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนสำหรับระบบต่างๆ และประเมินผลการดำเนินงานโดยเทียบกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้

1.7 — มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายให้เป็นกระบวนการและแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง

1.8 — พนักงานมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัยอย่างกระตือรือร้นและแบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนร่วมงานภายในองค์กร

1.9 —ประเมินผลการดำเนินงาน และเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ได้วางไว้ จากนั้น รายงานผลลัพธ์ไปยังผู้บริหารส่วนกลาง

1.10 —สำหรับส่วนงานที่มีการบริหารโดยบุคคลภายนอก (Operated by others) ผู้จัดการที่รับผิดชอบงานจะต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารภายนอกถึงหลักการ OIMS ของทางบริษัทๆ รวมถึงสนับสนุนให้มีการนำระบบ OIMS หรือระบบที่คล้ายคลึงกันมาใช้งาน

องค์ประกอบที่ 2

การประเมินและการจัดการความเสี่ยง

ข้อมูลที่ครบถ้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อนการตัดสินใจ ซึ่งจะมีผลในการช่วยลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการรักษาความปลอดภัย รวมถึงบรรเทาผลที่ตามมาจากการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ  

2.1 — บริหารจัดการความเสี่ยงโดยการระบุอันตราย ประเมินผลกระทบและความเป็นไปได้ ประเมินและใช้มาตรการป้องกันหรือบรรเทาความเสี่ยงต่างๆ

2.2 —ประเมินความเสี่ยงสำหรับหน่วยปฏิบัติงานหรือโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อระบุและจัดการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคล โรงงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

2.3 —ประเมินความเสี่ยงเป็นระยะตามความเหมาะสม โดยอาศัยบุคลากรที่มีคุณสมบัติครบถ้วน หรือผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกหน่วยงานที่รับผิดชอบ

2.4 —ทบทวนและประเมินความเสี่ยงตามช่วงเวลาที่กำหนดหรือเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

2.5 — ฝ่ายบริหารในระดับที่กำหนดตามความเหมาะสมกับลักษณะและความสำคัญของความเสี่ยง จะต้องได้รับแจ้งถึงผลการประเมินความเสี่ยง และจะต้องบันทึกการตัดสินไว้โดยชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

2.6 — มีกระบวนการติดตามผลเพื่อให้มั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามผลการประเมินความเสี่ยงที่อนุมัติไว้อย่างเคร่งครัด

องค์ประกอบที่ 3

การออกแบบและการก่อสร้าง

การกำหนดมาตรฐาน ขั้นตอน และระบบการจัดการที่ดีสำหรับการออกแบบ การก่อสร้าง และการใช้งานจะช่วยปรับปรุงความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

3.1 — ระบุขั้นตอนการบริหารจัดการโครงการไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเข้าใจและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน

3.2 — กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการประเมินความเสี่ยงแต่ละขั้นของโครงการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

3.3 —การออกแบบและการก่อสร้างหรือการปรับปรุง จะต้องยึดแนวทางปฏิบัติและมาตรฐานการออกแบบที่ได้รับอนุมัติซึ่ง:

  • ตรงตามหรือสูงกว่าข้อกำหนดทางกฎหมาย
  • หากกฎหมายไม่ครอบคลุม จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่เหมาะสม
  • ระบุถึงข้อควรพิจารณาด้านการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัยที่สำคัญ รวมไปถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

3.4 — หากมีสิ่งใดแตกต่างไปจากแนวทางหรือมาตรฐานการออกแบบเดิมที่ได้รับอนุมัติ จะต้องได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากผู้มีอำนาจอีกครั้ง จึงจะสามารถดำเนินการต่อได้ ทั้งนี้ จะต้องมีการบันทึกเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

3.5 — มีกระบวนการประเมินผลการใช้งานมาตรฐานใหม่หรือมาตรฐานที่ได้รับการปรับปรุงตามมาตรฐานการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย

3.6 — มีกระบวนการควบคุมคุณภาพ เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานที่ได้วางไว้

3.7 — ก่อนเริ่มงาน มีการตรวจสอบอีกครั้งและบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อยืนยันว่า:

  • การก่อสร้างเป็นไปตามข้อกำหนด
  • มีการวางมาตรการสำหรับการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย
  • มีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานและการซ่อมบำรุงรักษาในกรณีฉุกเฉิน
  • มีการระบุข้อแนะนำการจัดการความเสี่ยงและปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • มีการจัดฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
  • เป็นไปตามข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ

องค์ประกอบที่ 4

ข้อมูลและระบบเอกสาร

ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดค่าควบคุมและกำลังการผลิต คุณสมบัติหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ วัสดุ วัตถุดิบ รวมไปถึงข้อควรระวังด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และข้อกำหนดทางกฎหมาย ควรมีความถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้สามารถประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

4.1 —แบบแปลนและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การดำเนินงาน การตรวจสอบ และการซ่อมบำรุงโครงสร้างต่างๆ จะต้องสามารถเข้าถึงได้ มีความถูกต้อง และมีการควบคุมอย่างเหมาะสม

4.2 —ปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากวัสดุที่ใช้ในการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ โดยข้อมูลเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงได้ง่าย

4.3 —จัดทำเอกสารและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากผลิตภัณฑ์และให้คำแนะนำเรื่องการจัดการ การใช้ และการกำจัดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสม 

4.4 — มีการจัดทำเอกสารและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงกฎหมายและข้อบังคับ ใบอนุญาต หลักเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติ

องค์ประกอบที่ 5

บุคลากรและการฝึกอบรม

การควบคุมการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับบุคลากรเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย ต้องอาศัยการคัดกรอง คัดเลือก และมอบหมายตำแหน่งงานที่เหมาะสม พร้อมการประเมินและฝึกอบรมพนักงานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัยอย่างแท้จริง

5.1 — มีกระบวนการในการคัดกรอง คัดเลือก และมอบหมายตำแหน่งงาน รวมถึงประเมินคุณสมบัติและความสามารถของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตรงกับคุณสมบัติที่จำเป็นในแต่ละตำแหน่งงาน

5.2 — มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้มั่นใจว่า บุคลากรในระดับต่างๆ และบุคลากรแต่ละฝ่าย มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เพียงพอ โดยจะต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายบุคลากร

5.3 — จัดฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมายและตรงกับความต้องการในตำแหน่งงาน โดยบุคลากรจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันที่เหมาะสมเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงาน

การฝึกอบรมควรประกอบด้วย

  • การประเมินความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องของของพนักงานแต่ละคน 
  • เอกสารประกอบการฝึกอบรม
  • การประเมินประสิทธิผลของการฝึกอบรม

5.4 — ประเมิน บันทึก และสื่อสารกับพนักงานเรื่องประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย

5.5 — ปลูกฝังพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุต่างๆ ทั้งในด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน การรักษาความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม

โดยคาดหวังว่า:

  • พนักงานและผู้รับเหมาจะตระหนักและพยายามป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงาน ขั้นตอน หรืออันตรายทางกายภาพอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
  • พนักงานและผู้รับเหมาตระหนักและพยายามลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อตนเองและเพื่อนร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ
  • มีการคำนึงถึงปัจจัยด้านบุคลากร การมีส่วนร่วมของพนักงาน และพฤติกรรมความเป็นผู้นำ
  • มีการบันทึก วิเคราะห์ และบริหารจัดการพฤติกรรม สภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้

5.6 – มีกระบวนการระบุและประเมินความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของพนักงาน ผู้รับเหมา หรือชุมชน หลังการประเมิน จะต้องเฝ้าระวังการสัมผัสปัจจัยเสี่ยง มีการนำมาตรการป้องกันที่เหมาะสมมาใช้ พร้อมตรวจสอบและวินิจฉัยอย่างทันท่วงที เก็บและตรวจสอบข้อมูลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเมินว่าบุคลากรนั้นๆ มีภาวะสุขภาพที่เหมาะจะปฏิบัติงานหรือไม่

องค์ประกอบที่ 6

การปฏิบัติงานและการบำรุงรักษา

การปฏิบัติงานภายใต้กรอบการดำเนินงานและข้อกำหนดทางกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ การตรวจสอบและซ่อมบำรุงที่เป็นระบบ ความพร้อมของอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และความพร้อมของบุคลากรที่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนและแนวทางการดำเนินงานของบริษัท

6.1 มีการจัดทำและปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน การซ่อมบำรุง และการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด

ขั้นตอนเหล่านี้จะประกอบไปด้วย:

  • ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูง
  • ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
  • ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับกฎหมายและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
  • ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยด้านมนุษย์ ได้รับการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

6.2 ก่อนการออกใบอนุญาตปฏิบัติงานให้ผู้รับเหมา จะต้องตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงจากการใช้เครื่องจักรและการปฏิบัติงานอย่างถี่ถ้วน

6.3 ทดสอบและซ่อมบำรุงอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอ

6.4 หากอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่จำเป็นไม่สามารถใช้การได้ชั่วคราว จะต้องมีการบริหารจัดการอย่างทันท่วงที

6.5 ตรวจสอบและรายงานความพร้อมของเครื่องจักร ก่อนการทดสอบ ตรวจสอบ และซ่อมบำรุง

6.6 ทุกทีมที่ทำงานร่วมกัน จะต้องประเมินความเสี่ยง และกำหนดขั้นตอนในการจัดการความเสี่ยงร่วมกัน

6.7 จัดการและควบคุมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อกำหนดทางกฎหมาย และแผนการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ จะต้องจัดเตรียมแผนการดำเนินธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมและบูรณาการเข้ากับแผนการดำเนินธุรกิจหลัก

6.8 เก็บข้อมูลและรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยมลพิษทางอากาศ การทิ้งน้ำเสีย และการจัดการขยะ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการดำเนินงาน

6.9 ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ใบอนุญาต และข้อกำหนดต่างๆ จากรัฐบาล บันทึกผลการดำเนินงานและสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ พร้อมการตรวจสอบเป็นระยะ

6.10 มีแผนการบริหารจัดการที่ดีเมื่อหยุดปฏิบัติการ

6.11 กำหนดขั้นตอนการควบคุมคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างและวัสดุต่างๆ ถูกต้องตามแบบและรายละเอียดทางเทคนิค

องค์ประกอบที่ 7

การจัดการกับความเปลี่ยนแปลง

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติการ ขั้นตอนการทำงาน มาตรฐาน โครงสร้างต่างๆ หรือโครงสร้างองค์กร  จะต้องมีการประเมินและบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงานหลังการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ

7.1 จัดเตรียมกระบวนการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นทั้งชั่วคราวและถาวร

7.2 ทั้งนี้ กระบวนการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง ควรครอบคลุมถึง:

  • อำนาจความรับผิดชอบในการตัดสินใจ
  • การวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจกระทบถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
  • การปฏิบัติตามข้อบังคับและมาตรฐานที่ได้รับอนุมัติ
  • การขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง
  • เอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการชี้แจงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลง
  • การสื่อสารถึงเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลง และมาตรการจัดการความเสี่ยงดังกล่าว
  • กรอบเวลาการดำเนินงาน
  • การฝึกอบรม    

7.3 การเปลี่ยนแปลงชั่วครั้งคราว ไม่อยู่เหนือขอบเขตการอนุมัติเดิมซึ่งครอบคลุมขอบเขตและระยะเวลาเอาไว้แล้ว  ดังนั้นจึงไม่ต้องผ่านการตรวจสอบและอนุมัติใหม่

องค์ประกอบที่ 8

การบริการของบุคคลที่สาม

บุคคลที่สามที่ทำงานให้กับบริษัทล้วนมีผลต่อการปฏิบัติงานและชื่อเสียงของบริษัทในภาพรวม ดังนั้น บุคคลที่สามจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย และเป้าหมายทางธุรกิจของเอ็กซอนโมบิล 

8.1 ผู้ให้บริการบุคคลที่สามจะต้องได้รับการประเมินและคัดเลือกอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม

8.2 จะต้องกำหนดและสื่อสารเกี่ยวกับเป้าหมายการดำเนินงานให้บุคคลที่สามรับทราบ ได้แก่: 

  • หน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดหาบุคลากร ซึ่งจะต้องผ่านการคัดเลือก ฝึกอบรม และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่
  • กระบวนการติดตามผลและรายงาน

8.3 ทีมงานทุกฝ่ายต้องประสานงานกันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน

8.4 ประเมินผลการดำเนินงานของบุคคลที่สามอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้คำแนะนำและแก้ไขจุดที่บกพร่อง

องค์ประกอบที่ 9

การสืยสวนและวิเคราะห์เหตุที่เกิดขึ้น

การสืบค้นสาเหตุ รายงานและติดตามผลหลังการเกิดเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยส่งเสริมให้การปฏิบัติงานมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะบุคลากรสามารถเรียนรู้จากเหตุที่เกิดขึ้น และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการวางแผนแก้ไขและป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ

9.1 มีขั้นตอนการสืบสวน วิเคราะห์ และรายงานเหตุที่ขัดกับกฎหมายด้านความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเหตุเฉียดฉิว (near misses) 

9.2 มีขั้นตอนให้ฝ่ายกฎหมายมีส่วนร่วมในการสืบสวน วิเคราะห์ และให้คำแนะนำหากจำเป็น

9.3 นอกจากกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายกฎหมาย ในการสืบสวนและวิเคราะห์เหตุและเหตุเฉียดฉิว จะต้อง:

  • วิเคราะห์เหตุอย่างทันท่วงที
  • กำหนดระดับของการสืบสวน โดยพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 
  • สืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดเหตุ
  • กำหนดมาตรการป้องกันการเกิดเหตุหรือเหตุที่เกี่ยวข้องซ้ำ
  • รับฟังคำแนะนำจากฝ่ายกฎหมาย 

9.4 รายงานผลและวิเคราะห์หาวิธีปรับปรุงกระบวนการ ขั้นตอน มาตรฐานการทำงาน รวมไปถึง ระบบบริหารงานต่างๆ เป็นระยะ 

9.5 มีขั้นตอนการแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุที่เกิดขึ้นและเหตุเฉียดฉิวภายในองค์กร พร้อมหารือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหามาตรการป้องกันที่ดีขึ้น

องค์ประกอบที่ 10

การสร้างการรับรู้ของชุมชนและการเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน

การบริหารจัดการความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับชุมชนที่เราปฏิบัติงานอยู่ ทั้งนี้ การวางแผนและเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า หากมีเหตุเกิดขึ้น บริษัทจะสามารถรับมือและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับชุมชน สิ่งแวดล้อม รวมถึงบุคลากรและทรัพย์สินของบริษัท

10.1 สอบถาม ให้ความสำคัญ และบริหารจัดการเกี่ยวกับความคาดหวังหรือข้อกังวลของชุมชนที่มีต่อการปฏิบัติงานและพนักงานอย่างสม่ำเสมอ

10.2 จัดทำแผนเพื่อเตรียมพร้อมและรับมือเหตุฉุกเฉิน รวมถึงแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) ทั้งนี้ เอกสารจะต้องเข้าถึงได้ง่าย และสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ โดยแผนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน อันได้แก่

  • ขั้นตอนการรับมือสถานการณ์ต่างๆ 
  • โครงสร้างหน่วยงาน ความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย
  • ขั้นตอนการสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร
  • ขั้นตอนการบริหารจัดการบุคลากรและอุปกรณ์ที่จำเป็น
  • ขั้นตอนการบริหารจัดการข้อมูลที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย
  • ขั้นตอนการติดต่อสื่อสารกับบริษัทอื่นๆ และหน่วยงานด้านการรับมือเหตุฉุกเฉินภายนอก
  • ขั้นตอนการปรับปรุงข้อมูล

10.3 มีการกำหนดและเตรียมพร้อมอุปกรณ์ โครงสร้างต่างๆ และบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อการรับมือเหตุฉุกเฉินอยู่เสมอ

10.4 มีการจำลองสถานการณ์และฝึกซ้อมการรับมือเหตุฉุกเฉินอยู่เป็นระยะ ซึ่งรวมไปถึงการฝึกซ้อมการสื่อสารภายนอกองค์กร และนำผลการฝึกซ้อมมาใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินต่อไป

องค์ประกอบที่ 11

การประเมินและการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย

การประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อพัฒนาระบบการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น และทำให้พนักงานที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบในด้านความปลอดภัย

11.1 ประเมินการปฏิบัติงานตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ และวัดระดับว่าการดำเนินงานด้านการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัยบรรลุเป้าหมายมากน้อยเพียงใด

11.2 ความถี่และขอบเขตในการประเมินผลขึ้นอยู่กับความซับซ้อนในการปฏิบัติงาน ระดับความเสี่ยง และผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในอดีต

11.3 คณะกรรมการประเมินผล ควรมาจากหลากหลายฝ่าย รวมถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญนอกหน่วยงานที่ดูแลเป็นหลัก

11.4 มีการแก้ไขปัญหาและบันทึกผลการประเมินไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

11.5 มีการตรวจสอบขั้นตอนการประเมินเป็นระยะ และนำผลที่ได้มาปรับปรุงขั้นตอนเดิม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ผลิตก๊าซธรรมชาติน้ำพอง

ศูนย์ผลิตก๊าซธรรมชาติน้ำพอง

ศูนย์ผลิตก๊าซธรรมชาติน้ำพอง ภายใต้บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราชอิงค์ ดำเนินธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติในบริเวณอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพื่อป้อนโรงผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522
ความปลอดภัยและสวัสดิภาพ

ความปลอดภัยและสวัสดิภาพ

ไม่สำคัญว่าเราจะทำงานอยู่ที่ใดในโลก แต่เราไม่หยุดยั้งในการแสวงหาแนวทางที่ว่า จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ