ก่อน บิล เกทส์ มี เลิฟเลซ

หลายคนรู้จักเหล่ากูรูเทคโนโลยีในยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ วอซเนียก, บิล เกตส์ หรือ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ในฐานะผู้ปฏิวัติวิธีการเข้าถึง ประมวลผล และแบ่งปันข้อมูลของเรา แต่มีน้อยคนนักที่เคยได้ยินเรื่องราวของโปรแกรมเมอร์คนแรกอย่าง เอดา เลิฟเลซ บุตรสาวของ ลอร์ดไบรอน (ใช่แล้ว ลอร์ดไบรอน กวีที่คุณรู้จักนั่นแหละ) เลิฟเลซ อาจไม่ได้เป็นคนสร้างแอพพลิเคชันใหม่ล่าสุด หรือไฟร์วอลล์ความปลอดภัยที่ไม่มีทางเจาะเข้าได้ แต่ทั้งวอซเนียก เกตส์ และซักเคอร์เบิร์ก ต้องขอบคุณเลิฟเลซสำหรับการสร้างรากฐานให้กับความสำเร็จของพวกเขา

ออกัสตา “เอดา” เลิฟเลซ (1815-1852) เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้บุกเบิกภาษาคอมพิวเตอร์เป็นคนแรก ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นเพียงเครื่องคำนวณทางคณิตศาสตร์เท่านั้น เลิฟเลซมีความสนใจที่แตกต่างจากผู้หญิงในยุคสมัยเดียวกัน โดยหลงใหลในกลุ่มวิชา STEM ซึ่งประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineer) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ก่อนที่จะมีการใช้คำว่า STEM ด้วยซ้ำ

แต่เมื่อดูจากพ่อและแม่ของเธอแล้ว ความชอบของเลิฟเลซก็คงไม่น่าแปลกใจสักเท่าไร  ความหลงใหลและความสำเร็จทางคณิตศาสตร์ของเลิฟเลซนั้นมีสาเหตุหลักมาจากอิทธิพลของพ่อแม่ ลอร์ดไบรอน เป็นกวีและนักการเมืองที่โดดเด่นและค่อนข้างจะเอาแน่เอานอนไม่ได้ และเลดี้แอนนาเบลลา ไบรอน หรือที่สามีของเธอเรียกว่า เจ้าหญิงแห่งสี่เหลี่ยมด้านขนาน เพื่อยกย่องความเชี่ยวชาญในด้านคณิตศาสตร์ของเธอ

เลดี้ไบรอนพยายามวางพื้นฐานในสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้แก่ลูกสาว  (และอาจหวังด้วยว่าเลิฟเลซจะไม่เดินตามหนทางที่อื้อฉาวเหมือนกับพ่อของเธอ) โดยได้จ้างครูกวดวิชามากมายเพื่อมาสอนเลิฟเลซในขณะที่เธอมีอายุเพียงสี่ขวบเพื่อที่จะปลูกผังความรักในการเรียนรู้  วิธีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เลิฟเลซหลงใหลในการศึกษาและเติบโตขึ้นมาโดยแวดล้อมไปด้วยหมู่คนที่มีความสามารถ เมื่ออายุได้ 17 ปี เธอก็ได้พบกับ ชาร์ลส์ แบบเบจ บิดาแห่งคอมพิวเตอร์

ในช่วงที่ร่ำเรียนวิชาจากแบบเบจนั้นเองที่ความสามารถของเลิฟเลซเริ่มโดดเด่นออกมา ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครมองเห็นอัจฉริยภาพของเธอจนอีกเกือบร้อยปีให้หลัง!

ภายใต้คำแนะนำของแบบเบจ เลิฟเลซได้คิดค้นสิ่งที่หลายๆ คนเรียกว่าเป็นอัลกอริธึมชุดแรกที่เขียนขึ้นมาเพื่อใช้ออกคำสั่งสิ่งประดิษฐ์ของแบบแบจที่เรียกว่า Analytical Engine (หรือคอมพิวเตอร์นั่นเอง) ซึ่งสามารถใช้คำนวณสมการแบร์นูลลีที่มีความสำคัญมากทั้งทางทฤษฎีและการวิเคราะห์ตัวเลข

แม้ว่าแบบเบจจะมองว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขาเหมาะเพียงแค่สำหรับการคำนวณตัวเลข แต่เลิฟเลซคิดไปไกลกว่านั้น เธอเล็งเห็นความสามารถของมันในการแปลงรูปภาพ ข้อความ และเพลง ไปเป็นภาษาดิจิตัล ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบที่วางรากฐานให้โลกออนไลน์ในปัจจุบัน

ไม่น่าเชื่อว่าเลิฟเลซมีแนวคิดเหล่านี้ตั้งแต่ยุคก่อนอิเล็กทรอนิกส์ หลายสิบปีก่อนที่เอดิสัน เทสลา และเวสติงเฮาส์ จะบุกเบิกการผลิตไฟฟ้าในระดับที่ทำให้เกิดโลกยุคอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ สิ่งประดิษฐ์อีกอย่างที่เลิฟเลซมีส่วนช่วยในการคิดค้นเป็นเครื่องจักรที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีการสร้างมา นั่นก็คือระบบไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งชุดคำสั่งและโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อนที่ใช้ในการจ่ายพลังงานให้ทั้งประเทศ

Image

หลังจากเสียชีวิต เลิฟเลซได้รับการยกย่องที่เธอสมควรได้ในที่สุด เมื่อหนังสือที่รวบรวมผลงานของเลิฟเลซ Faster Than Thought: A Symposium on Digital Computing Machines ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกไปเมื่อปี 1843 ถูกตีพิมพ์อีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1950 หนังสือเล่มนี้ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในยุคศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนมีความรู้ความเข้าใจเพียงพอที่จะเข้าใจความคิดของเลิฟเลซ ส่งผลให้เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้คิดค้นซอฟต์แวร์ขึ้นเป็นคนแรก

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องการรวมโปรแกรมทางทหารที่หลากหลายเข้าด้วยกัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้ตั้งชื่อภาษาคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมการปฏิบัติงานทั้งหมดว่า เอดา เพื่อแสดงถึงความน่าเชื่อถือ ความเฉลียวฉลาด และความมั่นคงแข็งแรง หากคุณปฏิบัติงานในด้าน การบิน พลังงาน สาธารณสุข การเงิน การขนส่ง หรือแม้แต่อวกาศ ก็เป็นไปได้ว่าคุณเองก็ใช้ภาษาเอดาอยู่ทุกวัน

แหล่งที่มา

History Channel, “10 things you may not know about Ada Lovelace”